ตำรวจไซเบอร์จับแก๊งสาวแสบ สแกนหน้าตัวเองเปิดซิมผีออนไลน์กว่า 1.3 หมื่นเลขหมาย ส่งขายตลาดมืด

ตำรวจไซเบอร์จับแก๊งสาวแสบ

สแกนหน้าตัวเองเปิดซิมผีออนไลน์กว่า 1.3 หมื่นเลขหมาย ส่งขายตลาดมืด

.

ตามนโยบายของรัฐบาล โดย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รักษาการราชการแทน ผบ.ตร. มอบหมายให้ พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. ส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจไซเบอร์เร่งรัดปราบปรามความผิดที่เร่งรัดปราบปรามความผิดที่เกี่ยวข้องกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่หลอกลวงเหยื่อในรูปแบบต่างๆ ทำให้ประชาชนสูญเสียทรัพย์สินไปเป็นจำนวนมาก โดยเน้นปราบปรามกลุ่มอาชญากรเหล่านี้ให้ได้ทั้งขบวนการ ตั้งแต่ตัวการใหญ่จนไปถึงซิมผีบัญชีม้า

.

วันพฤหัสบดีที่ 11 เม.ย.67 เวลา 13.30 น. ณ อาคารสัมมนาและฝึกอบรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (เมืองทองธานี)

นำโดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. พล.ต.ต.นิเวศน์ อาภาวศิน รอง ผบช.สอท. พล.ต.ต.นิพล บุญเกิด ผบก.สอท.2 และ พล.ต.ต.สถิตย์ พรมอุทัย ผบก.สอท.3 พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมแถลงข่าว “ปฏิบัติการ SAVING GOOD MAN กรณีตำรวจไซเบอร์จับแก๊งสาวแสบ สแกนหน้าตัวเองเปิดซิมผีออนไลน์กว่า 1.3 หมื่นเลขหมาย ส่งขายตลาดมืด”

.

สืบเนื่องจาก ตำรวจไซเบอร์ได้ระดมจับกุมการกระทำผิดเกี่ยวกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และเว็บไซต์พนันออนไลน์มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน จนกระทั่งพบเบาะแสการกระทำผิดเกี่ยวกับการเปิดซิมผีที่ใช้บุคคลใบหน้าเดียวกันนับหมื่นเลขหมาย จึงได้ประสานงานร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กสทช. และ เครือข่ายผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ เพื่อทำการตรวจสอบเชิงลึกกรณีดังกล่าว

.

จากการตรวจสอบพบว่า มีบุคคลใช้ใบหน้าเดียวกันในการ KYC (Know Your Customer) เพื่อลงทะเบียนซิม จำนวน 13,060 เลขหมาย ซึ่งการ KYC เป็นกระบวนการพิสูจน์ตัวตนในการทําความรู้จักลูกค้าที่สามารถระบุตัวตน และพิสูจน์ตัวตนได้อย่างถูกต้อง (Identification and Verification) เพื่อเป็นการยืนยันตัวตนของลูกค้าเพื่อป้องกันการทุจริตหรือปลอมแปลงข้อมูลในการทำธุรกรรมทางการเงิน รวมถึงเป็นการป้องกันการฟอกเงิน การสร้างความปลอดภัยให้กับเจ้าของข้อมูล และเป็นการป้องกันการแอบอ้างตัวตน อีกทั้ง

บุคคลดังกล่าวยังใช้ภาพถ่ายเดียวกันบนหน้าบัตรประชาชน แต่ใช้บัตรประชาชนในการ KYC ต่างกันกว่า 3,350 ใบ เพื่อหลบเลี่ยงการตรวจสอบ

.

ต่อมา พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. ได้มอบหมายให้ พล.ต.ต.นิพล บุญเกิด ผบก.สอท.2 ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สืบสวนสอบสวนกรณีดังกล่าว จนทราบว่า ขบวนการดังกล่าวนั้น มีผู้ว่าจ้างให้ลงทะเบียนซิม ,ผู้จัดหาภาพบัตรประชาชน และ ผู้ที่ตัดต่อภาพบัตรประชาชนเพื่อทำการลงทะเบียนซิม โดยแบ่งหน้าที่กันทำ และ ได้รับผลประโยชน์จากการจัดหาภาพบัตรประชาชนในราคาภาพละ 5 บาท และ ลงทะเบียนซิมในราคาหมายเลขละ 5 บาท เพื่อนำออกขายในตลาดมืดในราคา เบอร์ละ 100 - 200 บาท สำหรับเป็นเครื่องมือของมิจฉาชีพ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ หรือ เว็บพนันออนไลน์ต่อไปต่อไป

.

เจ้าหน้าที่ตำรวจไซเบอร์จึงรวบรวมพยานหลักฐานขออำนาจศาลออกหมายจับผู้กระทำความผิดที่เกี่ยวข้องรวม 3 ราย กระทั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.1 บก.สอท.2 สามารถทำการสืบสวน จับกุมตัวผู้ต้องหาได้ทั้ง 3 ราย ได้แก่

1. น.ส.อุทัยทิพย์ อายุ 26 ปี ชาว กทม. ผู้ใช้ใบหน้าตนเองทำการ KYC ทั้ง 13,060 ซิม และ สวมบัตรประชาชน ทั้ง 3,350 ใบ

2. น.ส.ศิริลักษ์ อายุ 26 ปี ชาวกาฬสินธุ์ ผู้ว่าจ้างและส่งซิมการ์ด มาให้ น.ส.อุทัยทิพย์ฯ ทำการ KYC

3. น.ส.รัชวรรณสรณ์ อายุ 25 ปี ชาวกำแพงเพชร ผู้จัดหาและส่งบัตรประจำตัวประชาชน

.

เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงร่วมกันแจ้งข้อหา “ร่วมกัน ปลอม และ ใช้เอกสารราชการปลอม , โดยทุจริต หรือ โดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันมิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา ,ปลอมและใช้ บัตรประชาชน หรือแสดงบัตรประชาชนปลอม” นำตัวส่งดำเนินการตามกฎหมาย พร้อมเตรียมขยายผลถึงแหล่งรับซื้อ แหล่งจำหน่าย รวมทั้ง ผู้ใช้ประโยชน์จากซิมการ์ดโทรศัพท์มือถือดังกล่าว เพื่อนำตัวทั้งหมดมาดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

.

#ตำรวจไซเบอร์ #สอท #จับกุม #ซิมผี

#ตำรวจไซเบอร์  #CCIB