แถลงข่าวตำรวจไซเบอร์เตือนภัย มิจฉาชีพหลอกเหยื่อสายบุญ
แถลงข่าวตำรวจไซเบอร์เตือนภัย มิจฉาชีพหลอกเหยื่อสายบุญ
แถลงข่าวตำรวจไซเบอร์เตือนภัย
มิจฉาชีพหลอกเหยื่อสายบุญ
.
ตามนโยบาย นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้กำหนดนโยบายเร่งด่วน 10 ข้อ โดยข้อที่ 9 ได้กำหนดว่า รัฐบาลจะเร่งแก้ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ มิจฉาชีพ และอาชญากรรมข้ามชาติ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนนการรับมือกับอาชญากรรมออนไลน์อย่างรวดเร็ว เพื่อให้ความช่วยเหลือและเยียวยาเหยื่อได้อย่างทันท่วงที โดย พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผบ.ตร., พล.ต.อ.ธนา ชูวงศ์ รอง ผบ.ตร. และ พล.ต.ท.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร ผู้ช่วย ผบ.ตร.รรท.จตช. ในฐานะ ผอ.ศปอส.ตร. จึงได้สั่งการให้ พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผบช.สพฐ.ตร.รรท.ผบช.สอท. นำเจ้าหน้าที่ตำรวจ บช.สอท. สืบสวนจับกุมผู้ต้องหาที่กระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมออนไลน์อย่างเข้มข้น
.
วันนี้ (12 ธ.ค.67) กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี นำโดย พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผบช.สพฐ.ตร รรท.ผบช.สอท., พล.ต.ต.อรรถสิทธิ์ สุดสงวน รอง ผบช.สอท., พล.ต.ต.จิตติพนธ์ ผลพฤกษา ผบก.สอท.4 พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันแถลงข่าว ตำรวจไซเบอร์เตือนภัย มิจฉาชีพหลอกเหยื่อสายบุญ
.
สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ ตำรวจ กก.2 บก.สอท.4 ได้ตรวจพบความผิดปกติจากสื่อโซเชียลว่ามีเพจเฟซบุ๊ก ธรรมมะไร่เชิญตะวันและเพจเรารักการทำบุญได้โพสต์ภาพ เชิญชวนทำบุญกฐินสามัคคี ณ วัดดงยางเหนือ อ.พบพระ จ.ตาก ซึ่งทั้ง 2 เพจ มีข้อความเชิญชวนบริจาคที่เหมือนกัน และมีประชาชนกดถูกใจและสนใจร่วมทำบุญกันเป็นจำนวนมาก แต่มีความคิดเห็นบางรายการที่แสดงความไม่พอใจว่าโพสต์นี้เป็นโพสต์หลอกลวง ต่อมาพบว่ายังมีโพสต์เกี่ยวกับให้ช่วยกันบริจาคเนื่องจากมีพระป่วยบาดเจ็บและมีรูปพระที่นอนบนเตียงใน ร.พ.มาโชว์ มีคนร่วมบริจาคจำนวนมากด้วยความสงสาร
.
พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผบช.สพฐ.ตร.รรท.ผบช.สอท. จึงสั่งการให้ พล.ต.ต.จิตติพนธ์ ผลพฤกษา ผบก.สอท.4 และ พ.ต.อ.อนุชา ศรีสำโรง ผกก.2 บก.สอท.4 ให้ส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจไซเบอร์สืบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อขออนุมัติหมายจับจากศาล จากการตรวจสอบการโพสต์พบว่า บัญชีที่รับบริจาคเป็นคนละธนาคารกัน แต่เป็นชื่ิอบุคคลเดียวกัน ตรวจสอบยอดเงินทำบุญ ตลอดช่วงเวลา 4-5 เดือนที่ผ่านมา รวมกว่าล้านบาท ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ลงพื้นที่สอบถามทาง อ.พบพระ จ.ตาก ถึงข้อมูลวัดดงยางเหนือ แต่ได้รับคำตอบว่าวัดดังกล่าวไม่มีอยู่จริง จึงได้รวบรวมหลักฐานขออนุมัติหมายจับจากศาลเพื่อจับกุมตัวผู้ต้องหามาดำเนินคดี
.
ต่อมาวันที่ 10 ธ.ค.67 พ.ต.ท.พร้อมพล นิตย์วิบูลย์ สว.กก.2 บก.สอท.4, ร.ต.อ.เปรมประชา อุตมา, ร.ต.อ.ยุทธพงษ์ อมรมงคลศิลป์ รอง สว.กก.2 บก.สอท.4 และเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.2 บก.สอท.4 ได้จับกุม นายตะวัน อายุ 31 ปี ชาว จ.ตาก และ น.ส.วรวรรณ อายุ 31 ปี ชาว จ.กำแพงเพชร โดยจับกุมตัวได้ที่ที่รีสอร์ทแห่งหนึ่งใน อ.เมือง จ.ตาก ในความผิดฐาน “ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน โดยทุจริตหรือโดยหลอกลวง ร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน”
.
นายตะวันผู้เป็นสามี รับว่าได้ทำการฉ้อโกงจริง โดย ตอนแรกคิดว่าจะทำบุญจริงๆ แต่พอมียอดเงินเข้ามาเยอะ จึงอดใจไม่ไหวเพราะตนเองภาระเยอะ ผ่อนรถหลายคัน ลูกหลายคน นอกจากนี้นายตะวันรับกับตำรวจว่า ตนเองติดพนันออนไลน์ เงินที่ได้มาทั้งหมด ก็เอาไปเล่นพนันหมด ทุกวันนี้ต้องมาเช่ารีสอร์ท อยู่อย่างหลบๆซ่อนๆ เพราะมีปากเสียงกับญาติ เนื่องจากโดนตำหนิในเรื่องที่ไปหลอกลวงผู้อื่น จนตัวเองทนไม่ไหว อยู่บ้านไม่ได้ต้องแยกตัวออกมา ส่วนกลโกงก็แสนจะง่าย โดยจะไปก๊อปรูปพระป่วย รูปโปสเตอร์กฐินทำบุญต่างๆ มาโพสต์เรียกความศรัทธา และความสงสาร เพราะรู้ว่าคนไทยเชื่ิอง่าย ส่วนภรรยา ให้การภาคเสธว่าตนไม่ได้รู้เรื่องในการโกงนี้เลย เลี้ยงลูกอย่างเดียว แต่เงินที่สามีโอนมาให้ในบัญชีก็ร่วมกันใช้จ่ายภายในครอบครัวจริง
.
ตำรวจไซเบอร์ขอเตือนพี่น้องประชาชนว่า ให้ระมัดระวังเพจปลอมแอบอ้างเป็นหน่วยงานราชการ เพื่อหลอกขอข้อมูลส่วนตัว หรือหลอกรับบริจาค รวมไปถึงเพจปลอมที่แอบอ้างเป็นวัดหรือมูลนิธิ ที่หลอกให้โอนเงินช่วยเหลือบริจาคทำบุญ เนื่องจากในสถานการณ์ปัจจุบัน ที่มีภัยออนไลน์มากมาย การที่จะโอนเงินทำบุญ หรือบริจาคให้หน่วยงานใดๆ ต้องตรวจสอบให้แน่ใจก่อน เพราะมิจฉาชีพมักจะฉวยโอกาสแห่งศรัทธา หลอกลวง ถึงแม้จะเป็นเงินจำนวนไม่มาก และผู้เสียหายบางคนก็ไม่ติดใจเอาความ เพราะยอดเงินจำนวนไม่มาก ทำให้เสียเวลา
.
นอกจากนี้พี่น้องประชาชนต้องระมัดระวังมิจฉาชีพสร้างเพจปลอมโดยอาศัยช่วงเวลาในเทศกาลต่างๆ เช่น ฤดูท่องเที่ยวจะมีเพจปลอมของที่พัก รีสอร์ท โรงแรม หรือช่วงใกล้เทศกาลปีใหม่จะมีเพจหลอกให้กรอกข้อมูลเพื่อรับรางวัล จึงอยากขอเตือนพี่น้องประชาชน ให้ตรวจสอบเพจเหล่านี้ให้ดีก่อน โดยเพจจริงจะมีจุดสังเกต เช่น เครื่องหมายบลูติ๊ก, ผู้ติดตามต้องมีจำนวนมาก, ไม่มีอีโมชันโกรธ, ไม่เปลี่ยนชื่อเพจบ่อย, ผู้ดูแลเพจต้องมาจากประเทศไทย และชื่อบัญชีปลายทางต้องไม่เป็นชื่อบุคคลธรรมดา หรือหากพี่น้องประชาชนไม่แน่ใจว่าเป็นเพจปลอมหรือไม่ สามารถตรวจสอบผ่านแอปพลิเคชัน Cyber Check พร้อมให้ดาวน์โหลดแล้วทั้ง IOS และ Android หรือหากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามได้ที่สายด่วน AOC 1441 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง แจ้งความออนไลน์ได้ที่ www.thaipoliceonline.go.th เท่านั้น
.
#ตำรวจไซเบอร์ #มิจฉาชีพออนไลน์ #หลอกลวงทำบุญ #ป้องกันภัยไซเบอร์ #ทำบุญออนไลน์ #เพจปลอม #ข่าวสารออนไลน์ #ตำรวจสืบสวน #ตรวจสอบเพจ #CyberCheck #แจ้งความออนไลน์
#ตำรวจไซเบอร์ #CCIB