ตำรวจไซเบอร์รวบคู่หูมือแฮกเพจดังภาคใต้ ยึดได้ขายต่อ พร้อมขู่แบล็กเมล เตือนประชาชนระวังภัย
ตำรวจไซเบอร์รวบคู่หูมือแฮกเพจดังภาคใต้ ยึดได้ขายต่อ พร้อมขู่แบล็กเมล เตือนประชาชนระวังภัย
ตำรวจไซเบอร์รวบคู่หูมือแฮกเพจดังภาคใต้
ยึดได้ขายต่อ พร้อมขู่แบล็กเมล เตือนประชาชนระวังภัย
.
ตามนโยบาย นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้กำหนดนโยบายในการเร่งแก้ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ มิจฉาชีพ และอาชญากรรมข้ามชาติ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน โดย พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผบ.ตร., พล.ต.อ.ธนา ชูวงศ์ รอง ผบ.ตร. และ พล.ต.ท.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร ผู้ช่วย ผบ.ตร.รรท.จตช. ในฐานะ ผอ.ศปอส.ตร. ได้ขับเคลื่อนนโยบายผ่าน พล.ต.ท.อัคราเดช พิมลศรี ผู้ช่วย ผบ.ตร. ในฐานะผู้รับผิดชอบควบคุมสั่งการ บช.สอท. และ พล.ต.ท.อิทธิพล อัจฉริยะประดิษฐ์ ผู้ช่วย ผบ.ตร. ในฐานะ รอง ผอ.ศปอส.ตร. ได้สั่งการให้ พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผบช.สพฐ.ตร.รรท.ผบช.สอท. นำเจ้าหน้าที่ตำรวจ บช.สอท. สืบสวนจับกุมผู้ต้องหาที่กระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมออนไลน์และดำเนินคดีให้ถึงที่สุด เพื่อสามารถติดตามทรัพย์สินที่หลอกลวงไปกลับมาเยียวยาความเดือดร้อนของผู้เสียหาย จนนำมาสู่ปฏิบัติการดังกล่าว
.
วันพุธที่ 18 ธ.ค.67 เวลา 14.30 น. ณ บริเวณชั้น 1 อาคารเฉลิมพระเกียรติฯ บช.สอท. (เมืองทองธานี) นำโดย พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผบช.สพฐ.ตร.รรท.ผบช.สอท. พล.ต.ต.วิวัฒน์ คำชำนาญ รอง ผบช.สอท., พล.ต.ต.ชัชปัณฑกาณฑ์ คล้ายคลึง ผบก.สอท.1 และ พล.ต.ต.ภูมิพัฒน์ ภัทรศรีวงษ์ชัย ผบก.สอท.5 พร้อมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมแถลงข่าว “รวบคู่หูมือแฮกเพจดังภาคใต้ ยึดได้ขายต่อ พร้อมขู่แบล็กเมล เตือนประชาชนระวังภัย”
.
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 3 ธ.ค.67 ได้มีผู้เสียหายอายุ 52 ปี มีอาชีพเสริมเป็นเจ้าของค่ายเพลง และเป็นเจ้าของบัญชีแฟนเพจต่างๆ ที่ใช้ในการโปรโมตศิลปินและผลงานเพลงในค่าย โดยได้ทำงานสร้างเนื้อหามากว่า 7 ปีแล้ว และมีฐานผู้ติดตามหลักล้าน สามารถสร้างรายได้บนแพลตฟอร์มอย่างต่อเนื่อง
.
ทั้งนี้ผู้เสียหายได้รับการติดต่อในกล่องข้อความจากบัญชีที่ใช้ชื่อว่า “Jeab Prajuk” ซึ่งเป็นบัญชีอวตารและได้แอบอ้างว่า บัญชีเพจต่างๆ ของผู้เสียหายมีการถูกนำไปขายในแพลตฟอร์มออนไลน์ พร้อมกับส่งภาพที่แคปหน้าจอมาให้ดู ผู้เสียหายจึงเข้าใจว่า เพจของตนเองโดนแฮก ต่อมาคนร้ายจึงได้อาสาแนะนำการตั้งค่าบัญชีแฟนเพจให้ปลอดภัย
.
ต่อมาคนร้ายจึงบอกให้ผู้เสียหายทำตามขั้นตอนที่แนะนำ ซึ่งขั้นตอนดังกล่าวที่คนร้ายให้ทำนั้น เป็นการตั้งค่าให้สิทธิ์คนร้ายเข้าถึงและควบคุมเพจของผู้เสียหายได้โดยไม่รู้ตัว และระหว่างการปรับตั้งค่าเพจ คนร้ายได้วิดีโอคอลตลอดเวลาเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจ โดยคนร้ายใช้เป็นกล้องหลังเพื่อปิดบังใบหน้า แต่คนร้ายเผลอเปิดกล้องหน้าประมาณ 1 ครั้ง ทำให้ผู้เสียหายจดจำรูปพรรณสัณฐานได้ ภายหลังผู้เสียหายเพิ่งพบว่าตนเองไม่สามารถเข้าถึงเพจของตนเองได้ จึงได้ลองติดต่อคนร้ายเพื่อขอเพจคืน กลุ่มคนร้ายแจ้งว่ายินยอมคืนเพจให้แต่ได้เรียกร้องเงินจำนวนหนึ่งเพื่อแลกกับการคืนเพจดังกล่าว ผู้เสียหายจึงโอนเงินไปให้ส่วนหนึ่ง และเข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สภ.สิชล ในเวลาต่อมา
.
ต่อมา ได้มีการโอนสำนวนคดีดังกล่าวมายัง กก.3 บก.สอท.5 รับผิดชอบ ตามคำสั่ง ตร. ที่ 182/2566 ลงวันที่ 17 มี.ค.66 เรื่องการรับแจ้งความและการบริหารคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยตำรวจไซเบอร์พบข้อมูลว่า เพจของผู้เสียหายได้ถูกเปลี่ยนชื่อและถูกนำไปใช้ลงโฆษณาแปะลิงก์เว็บพนันออนไลน์ จึงได้รวบรวมพยานหลักฐานจนสามารถขออำนาจศาลจังหวัดนครศรีธรรมราชออกหมายจับผู้ร่วมขบวนการได้จำนวน 2 ราย
.
กระทั่งวันที่ 17 ธ.ค.67 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.3 บก.สอท.5 ได้นำกำลังเข้าจับกุมตัว นายกฤต อายุ 22 ปี ตามหมายจับศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ จ.653/2567 ลง 14 ธ.ค.67 โดยควบคุมตัวได้ที่บ้านพักใน อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี และจับกุมนายคุณัชญ์ หรือ มิน อายุ 23 ปี ตามหมายจับศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ จ.645/2567 ลง 11 ธ.ค.67 โดยควบคุมตัวได้ที่บ้านพักใน อ.เมืองปัตตานี จ.ปัตตานี พร้อมของกลางเป็นคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะพร้อมอุปกรณ์ จำนวน 3 รายการ และ โทรศัพท์มือถือที่ใช้สั่งการ
และทำธุรกรรมทางการเงิน จำนวน 1 เครื่อง
.
เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงดำเนินคดีในความผิดฐาน “ร่วมกันฉ้อโกง, ร่วมกันโดยทุจริตหรือโดยหลอกลวง นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง, เข้าถึงโดยมิชอบซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ ที่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึงโดยเฉพาะและมาตรการนั้นมิได้มีไว้สําหรับตน, ร่วมกันทําให้เสียหาย ทําลาย แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มเติม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ซึ่งคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นโดยมิชอบ, กระทําด้วยประการใดๆ โดยมิชอบ เพื่อให้การทํางานของระบบและข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นถูกระงับ ชะลอ หรือรบกวนจนไม่สามารถทํางานได้ตามปกติ และเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่บุคคล หรือทรัพย์สินของผู้อื่น”
.
จากการสอบสวนผู้ต้องหาทั้งสองรายให้การว่า ได้ใช้บัญชีโซเชียลอวตารที่ นายคุนัชญ์ หรือ มิน ได้สร้างขึ้นมา
ทักเข้าไปหาเจ้าของเพจเฟซบุ๊ก โดยมี นายกฤตฯ ผู้ต้องหาอีกรายทำหน้าที่คัดเลือกเหยื่อและส่งช่องทางการ แฮ็กให้ผู้ต้องหา แล้วหลอกผู้เสียหายให้ตั้งค่าให้ตนได้สิทธิ์เป็นแอดมินเพจ เมื่อยึดเพจได้ก็จะตัดสิทธิ์เจ้าของเพจเดิมออก เมื่อยึดเพจได้แล้ว นายกฤตฯ ก็จะโอนเงินค่าตอบแทนให้นายคุณัชญ์ หรือ มิน โดยคิดอัตราค่าตอบแทนตามยอดผู้ติดตามของเพจนั้น ในราคา 3,000 บาทต่อ 1 แสนผู้ติดตาม แต่สูงสุดไม่เกิน 30,000 บาท
.
โดยคนร้ายทั้ง 2 ราย ได้รู้จักกันผ่านการเล่นเกมส์ออนไลน์ และมีความสนิทกันมาประมาณ 2-3 ปี โดยใช้
การติดต่อสื่อสารทางแอป Telegram เป็นหลักเพื่อพูดคุยงานและการส่งลิงก์บัญชีธุรกิจ (กรณีให้ลูกค้าทำตามขั้นตอนที่คนร้ายแนะนำ) เมื่อยึดเพจมาได้แล้ว จะนำไปลงประกาศขายต่อในกลุ่มปิด หรือในกลุ่มตลาดมืดที่ทำธุรกิจผิดกฎหมาย เช่น การพนันออนไลน์ และ แก๊ง Call Center เป็นต้น สามารถทำรายได้จากการกระทำดังกล่าวนับแสนบาทต่อเดือน ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมาสามารถทำรายได้ไปแล้วไม่ต่ำกว่าล้านบาท
.
จากการตรวจสอบข้อมูลในคอมพิวเตอร์ของนายกฤตฯ ผู้ต้องหา พบว่ามีเพจชื่อดังจำนวนกว่า 100 บัญชีที่ถูกยึดมาโดยวิธีการดังกล่าว และนำไปซื้อ-ขาย แลกเปลี่ยนในตลาดมืดอีกทอดหนึ่ง
.
ทั้งนี้ หากเจ้าของเพจท่านใดมีข้อกังวลหรือสงสัยว่า บัญชีโซเชียลหรือเพจของตนเองอาจเคยโดนคนร้ายกลุ่มนี้หลอกลวงมาก่อน สามารถรายงานขอความช่วยเหลือได้ที่ https://www.facebook.com/hacked และสอบถามได้ที่ บก.สอท. 5 ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02-412-5613 โดยทางตำรวจไซเบอร์
และ Meta Platforms Inc. มีการทำงานบูรณาการความร่วมมือกันในการดูแลชุมชนออนไลน์ให้ปลอดภัยอย่างใกล้ชิด
.
#ตำรวจไซเบอร์ #สอท #แฮกเพจ #เฟซบุ๊กแฟนเพจ
#ตำรวจไซเบอร์ #CCIB