ตำรวจไซเบอร์ ร่วมกระทรวง DE ทลายเครือข่ายหลอกคนไทยทำงานแก๊งคอลเซ็นเตอร์ แจ้งความดำเนินคดีกว่า 35 คดี ความเสียหายกว่า 33 ล้านบาท

ตำรวจไซเบอร์ ร่วมกระทรวง DE

ทลายเครือข่ายหลอกคนไทยทำงานแก๊งคอลเซ็นเตอร์

แจ้งความดำเนินคดีกว่า 35 คดี ความเสียหายกว่า 33 ล้านบาท

.

วันที่ 15 ก.พ.67 ณ อาคารสัมมนาและฝึกอบรมสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (เมืองทองธานี) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) นำโดย นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPC) นำโดย ดร.ศิวรักษ์ ศิวโมกษธรรม เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล, พ.ต.อ.สุรพงศ์ เปล่งขำ ผู้อำนวยการสำนักตรวจสอบและกำกับดูแล สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และ ร.ท.ฐานนันดร สำราญสุข หัวหน้าศูนย์ PDPC Eagle Eyes และ กองบัญชาการตํารวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) นำโดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท.,

พล.ต.ต.จิระวัฒน์ พยุงธรรม, พล.ต.ต.นิพล บุญเกิด ผบก.สอท.2 พล.ต.ต.ภูมิพัฒน์ ภัทรศรีวงษ์ชัย ผบก.สอท.5 พร้อมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมแถลงข่าวกรณี ทลายเครือข่ายหลอกคนไทยทำงานแก๊งคอลเซ็นเตอร์

ตามแนวชายแดน

.

สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.สอท.2 ได้รับการประสานข้อมูลจากศูนย์ต่อต้านอาชญากรรมออนไลน์ AOC 1441 และข้อมูลจากการลงพื้นที่ปฏิบัติงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.กุยบุรี โดยสืบทราบว่า มีกลุ่มอดีตบัญชีม้าตกเป็นผู้เสียหายจำนวน 6 ราย เนื่องจากโดนเหยื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์แจ้งความดำเนินคดีรวมกว่า 35 คดี มูลค่าความเสียหายรวมกว่า 33 ล้านบาท โดยมีการหลอกลวงให้โอนเงินเข้าบัญชีผู้เสียหาย 6 รายดังกล่าว

.

ต่อมา ผู้เสียหายทั้ง 6 ราย ได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า ถูก น.ส.กัญญาณี หรือ ตุ้ง (ขอสงวนนามสกุล) ซึ่งรู้จักกันมากว่า 10 ปี ติดต่อชักชวนให้ไปทำงานขายของออนไลน์ในฝั่งประเทศกัมพูชา ซึ่งสามารถชวนญาติพี่น้องให้เดินทางมาทำงานด้วยกันได้ด้วย โดยทาง น.ส.กัญญาณี อาสาออกค่าทำพาสปอร์ตและค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้ทั้งหมด กลุ่มผู้เสียหายทั้ง 6 ราย จึงหลงเชื่อและได้เดินทางไปพักที่บ้านเช่าแห่งหนึ่งในหมู่บ้านคลองน้ำใส อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ซึ่งห่างจากด่านข้ามแดนประมาณ 7-8 กิโลเมตร

.

จากนั้น น.ส.กัญญาณี เดินทางมาพบกลุ่มผู้เสียหายเพื่อพาข้ามชายแดน โดยได้พาไปยังอาคารพาณิชย์แห่งหนึ่ง ในเมืองปอยเปต ประเทศกัมพูชา ซึ่งอยู่ห่างจากด่านชายแดนประมาณ 2 กิโลเมตร โดยอาคารดังกล่าวนั้นมี 3 ชั้น โดยชั้นที่ 2 เป็นสถานที่ทำงาน ส่วนชั้นอื่นเป็นที่พัก มีคนไทยอยู่รวมกันประมาณ 30-40 คน มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยถือกระบองไฟฟ้าคอยดูแลความเรียบร้อย มีชาวจีน ซึ่งเป็นนายจ้าง เป็นหัวหน้าผู้ดูแล โดยหลังจาก น.ส.กัญญาณี พากลุ่มผู้เสียหายไปส่ง ก็ไม่พบหน้ากันอีกเลย

.

กลุ่มผู้เสียหายได้ให้ข้อมูลว่า เมื่อไปถึงอาคารดังกล่าว นายจ้างชาวจีนได้ยึดโทรศัพท์ และสมุดบัญชี ธนาคารทั้งหมด จากนั้นจะมีโทรศัพท์ให้ใช้คนละ 1 เครื่อง แล้วบังคับให้เปิดบัญชีธนาคาร พร้อมสแกนใบหน้า คนละประมาณ 8-10 บัญชี โดยมีการสแกนใบหน้าจำนวนหลายครั้ง นอกจากนี้ ยังบังคับให้ทุกคนต้องถ่ายโอน ข้อมูลของแอปพลิเคชันธนาคารและข้อมูลส่วนตัวต่างๆ ไปยังเครื่องของนายจ้างชาวจีนทั้งหมด จากนั้นกลุ่มผู้เสียหายก็ถูกบังคับให้ทำงานในแก๊งคอลเซ็นเตอร์เรื่อยมา ไม่ใช่การขายของออนไลน์ตามที่ น.ส.กัญญาณี ชักชวนแต่อย่างใด

.

ต่อมาเมื่อกลุ่มผู้เสียหายได้กลับมายังประเทศไทย จึงทราบว่าตนเองตกเป็นผู้ต้องหาในคดีเกี่ยวกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ จึงได้รวมตัวกันไปแจ้งความดำเนินคดีกับ น.ส.กัญญาณี ผู้ชักชวน รวมทั้งผู้เกี่ยวข้องที่เคยบังคับและหลอกลวงให้ไปทำงานดังกล่าว โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้สืบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อเร่งรัดจับกุมผู้กระทำความผิดที่เกี่ยวข้องเรื่อยมา

.

กระทั่งช่วงเช้าของวันที่ 12 ก.พ.67 เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวน กก.4 บก.สอท.2 ได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง จ.สระแก้ว จับกุมตัว น.ส.กัญญาณี หรือ ตุ้ง (สงวนนามสกุล) ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่ จ.23/2567 ลงวันที่ 8 ก.พ.2567 ในความผิดฐาน “เป็นธุระจัดหา โฆษณา หรือไขข่าวโดยประการใดๆ เพื่อให้มีการซื้อขาย ให้เช่า หรือให้ยืม บัญชีเงินฝาก บัตรอิเล็คทรอนิกส์ หรือบัญชีเงินอิเล็คทรอนิกส์ เพื่อใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีหรือความผิด

ทางอาญาอื่นใด” โดยควบคุมตัวได้ที่บริเวณด่านพรมแดนคลองลึก ต.อรัญประเทศ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว จากนั้นจึงนำตัวส่ง สภ.กุยบุรี เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

.

#ตำรวจไซเบอร์ #สอท #จับกุม #แก๊งคอลเซ็นเตอร์

#ตำรวจไซเบอร์  #CCIB