ตำรวจไซเบอร์แถลงปฏิบัติการ ทลายขบวนการอ้างการไฟฟ้า หลอกติดตั้งแอปดูดเงิน ตามรวบนายหน้าพา “ม้า” ข้ามแดนสแกนหน้า หลอกคนไทย

ตำรวจไซเบอร์แถลงปฏิบัติการ

ทลายขบวนการอ้างการไฟฟ้า หลอกติดตั้งแอปดูดเงิน

ตามรวบนายหน้าพา “ม้า” ข้ามแดนสแกนหน้า หลอกคนไทย

.

วันที่ 15 ก.พ.67 เวลา 14.00 น. ณ ห้องประชุมชั้น 3 บก.สอท.2 บช.สอท. โดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. ได้มอบหมายให้ พล.ต.ต.อรรถสิทธิ์ สุดสงวน รอง ผบช.สอท. พล.ต.ต.จิตติพนธ์ ผลพฤกษา ผบก.สอท.4 พล.ต.ต.ภูมิพัฒน์ ภัทรศรีวงษ์ชัย ผบก.สอท.5 พล.ต.ต.ชูศักดิ์ ขนาดนิด ผบก.ตอท. พร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้องร่วมแถลงข่าว CYBER GUARD OPERATION กรณี “ตำรวจไซเบอร์ทลายขบวนการอ้างการไฟฟ้า หลอกติดตั้งแอปดูดเงิน ตามรวบนายหน้าพา“ม้า”ข้ามแดนสแกนหน้า หลอกคนไทย”

.

สืบเนื่องจากเมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา มีผู้เสียหายจำนวน 2 ราย เข้าแจ้งความร้องทุกข์กับ พ.ต.อ.กฤษดา มานะวงศ์สกุล ผกก.1 บก.สอท.5 ว่าได้ถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกให้ติดตั้งแอปพลิเคชัน การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเพื่อคืนเงินชดเชยช่วงสถานการณ์ COVID โดยผู้เสียหายจะต้องดาวน์โหลดติดตั้ง แอปพลิเคชันเพื่อทำรายการคืนเงิน เมื่อหลงเชื่อกดติดตั้งไปแล้วปรากฏว่าโทรศัพท์มือถือค้าง ไม่สามารถใช้การได้ จากนั้นยอดเงินในบัญชีทุกบัญชีถูกโอนออกไปยังบัญชีของคนร้าย รวมเป็นจำนวน 1,232,055 บาท และ 445,152 บาท ตามลำดับ จากการตรวจสอบข้อมูล ยังพบความเกี่ยวพันกับคดีหลอกลวงติดตั้งแอปพลิเคชันอีกหลายสิบคดี ซึ่งมีการแจ้งความไว้ทั่วประเทศ

.

ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.1 บก.สอท.5 นำโดย พ.ต.ท.ประเสริฐ หวังบุญสร้าง พ.ต.ท.วีระ หอมเย็น รอง ผกก.1 บก.สอท.5 และ พ.ต.ต.สุธี บุดดีคำ พร้อมชุดสืบสวน ได้รวบรวมพยานหลักฐานและตรวจสอบเส้นทางการเงิน พบว่าหลังจากที่กลุ่มมิจฉาชีพเข้าควบคุมโทรศัพท์ของผู้เสียหายผ่านการหลอกให้ติดตั้งแอปพลิเคชันปลอมได้แล้ว จะทำการโอนเงินออกจากบัญชีผู้เสียหายไปยังบัญชีม้าแถวแรกที่เตรียมไว้ และโอนต่อไปยังบัญชีม้าแถวสอง แถวสาม ต่อกันเป็นทอดๆ ซึ่งภายในเวลาไม่ถึง 5 นาที เงินทั้งหมดจะถูกโอนออกไปต่างประเทศ สร้างความเสียหายเป็นจำนวนมาก จึงได้รวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมดยื่นคำร้องต่อศาลขอหมายจับผู้ต้องหาในขบวนการนี้ไว้

.

ทั้งนี้ จากการสืบสวนยังทราบว่า น.ส.สุจิตรา (สงวนนามสกุล) อายุ 36 ปี ผู้ต้องหาหนึ่งในขบวนการ มีพฤติการณ์เป็นนายหน้าจัดหาบัญชีธนาคารและหมายเลขโทรศัพท์ หรือ บัญชีม้า-ซิมม้า ผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อนำไปขายให้กับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่ประเทศเพื่อนบ้าน

.

ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ระดมจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับดังกล่าว สามารถทำการจับกุมผู้ต้องหาได้จำนวน 5 ราย ประกอบด้วย

1.นายธนะชัย (สงวนนามสกุล) จับกุมได้ที่ห้องพักในคอนโดมิเนียน เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ

2.นายสรายุทธ (สงวนนามสกุล) จับกุมได้ที่บ้านพักใน อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา

3.นายวันชาติ (สงวนนามสกุล) จับกุมได้ที่บ้านพัก ต.ตลาดเหนือ อ.เมืองภูเก็ต จ.ภูเก็ต

4.น.ส.สุรัตน์ (สงวนนามสกุล) จับกุมได้ที่บ้านพักใน อ.เมืองกาญจนบุรี จ.กาญจนบุรี

5.น.ส.สุจิตรา (สงวนนามสกุล) นายหน้าจัดหาบัญชีม้าซิมม้า จับกุมได้ที่บ้านพักภายในซอย บรมราชชนนี 61 เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ

.

โดยแจ้งข้อหาในความผิดฐาน “ร่วมกันลักทรัพย์ ร่วมกันหลอกลวงนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน , ร่วมกันเข้าถึงข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึงโดยเฉพาะฯ , ร่วมกันทำให้เสียหาย ทำลาย แก้ไข เปลี่ยนแปลง ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยมิชอบฯ, ร่วมกันใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ ของผู้อื่นโดยมิชอบฯ หรือใช้เบิกถอนเงินสด” นำส่งพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย

.

เบื้องต้น น.ส.สุจิตราฯ ยอมรับว่า ตนไม่ได้ประกอบอาชีพเป็นหลักเป็นแหล่ง แต่หารายได้จากการเป็นนายหน้าจัดหาบัญชีม้าให้กับกลุ่มแก๊งคอลเซ็นเตอร์ โดยโพสต์รับซื้อขายบัญชีม้าและซิมม้าผ่านสื่อสังคมออนไลน์ Facebook โดยเมื่อหาคนรับเปิดบัญชี หรือ “ม้า” ได้แล้ว จะพา “ม้า” ข้ามไปประเทศเพื่อนบ้านผ่านช่องทางธรรมชาติ เพื่อเปิดบัญชีและสแกนหน้า โดยคนเปิดบัญชีจะได้ค่าตอบแทนบัญชีละ 3,000 บาทต่อบัญชี ส่วนใหญ่แก๊งคอลเซ็นเตอร์มักให้ “ม้า” เปิดคนละ 5 บัญชี โดยมีค่าตอบแทน 15,000 บาท ส่วนตน

ได้ค่าตอบแทน 5,000 บาท น.ส.สุจิตราฯ รับว่าทำมาแล้วประมาณ 1 ปีเศษ พาคนไปเปิดบัญชีมาแล้ว หลายครั้ง ประมาณ 50 - 60 บัญชี ทั้งนี้ น.ส.สุจิตราฯ เคยถูกจับกุมฐานจำหน่ายยาบ้า เมื่อปี พ.ศ.2557 โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.สอท.5 อยู่ระหว่างติดตามจับกุมผู้ต้องหาที่เหลือ และขยายผลไปยังตัวการใหญ่ที่อยู่เบื้องหลัง

.

พล.ต.ต.ภูมิพัฒน์ฯ ผบก.สอท.5 ได้ฝากประชาสัมพันธ์ไปยังพี่น้องประชาชนว่า การขายบัญชีม้า หรือซิมม้า มีความผิดตาม พ.ร.ก.การมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมถึงผู้ที่เป็นธุระจัดหา โฆษณา หรือไขข่าวโดยประการใดๆ เพื่อให้มีการซื้อ ขาย ให้เช่า หรือให้ยืม บัญชีเงินฝาก บัตรอิเล็กทรอกนิกส์ บัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ ตลอดจนเลขหมายโทรศัพท์สำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งลงทะเบียนผู้ใช้บริการในนามของบุคคลหนึ่งบุคคลใดแล้ว แต่ไม่สามารถระบุตัวผู้ใช้บริการได้ ต้องระวางโทษจำคกตั้งแต่ 2-5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 200,000-500,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ

.

#ตำรวจไซเบอร์ #สอท #จับกุม #แอปดูดเงิน #การไฟฟ้า

#ตำรวจไซเบอร์  #CCIB