ตำรวจไซเบอร์ลุยจับบัญชีม้าขบวนการแอบอ้าง กฟภ. เหยื่อหลงเชื่อสแกนหน้า เสียหายนับล้านบาท

ตำรวจไซเบอร์ลุยจับบัญชีม้าขบวนการแอบอ้าง กฟภ.

เหยื่อหลงเชื่อสแกนหน้า เสียหายนับล้านบาท

.

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2566 ผู้เสียหายได้รับ SMS ว่า “คืนเงินประกันการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค PEA ยืนยันการลงทะเบียน เงื่อนไขการขอคืนเงินประกันฯ” พร้อมแนบลิงก์เพื่อสอบถามเพิ่มเติม ซึ่งเป็นลิงก์สำหรับเพิ่มเพื่อนในไลน์ เมื่อกดเพิ่มเพื่อน จึงได้พูดคุยกับคนร้ายและส่งลิงก์ให้ติดตั้งแอปฯ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (ปลอม) เพื่อดำเนินการขอรับเงินคืน ซึ่งคนร้ายได้โทรไลน์แล้วชวนพูดคุยระหว่างทำการติดตั้ง จากนั้นหลอกให้สแกนใบหน้า แจ้งหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน กรอกข้อมูลรหัสผ่านแอปพลิเคชันธนาคาร หลังจากนั้นแอปพลิเคชันดังกล่าวได้แสดงหน้าจอรูปวงกลมหมุน เมื่อเข้าไปตรวจสอบแอปพลิเคชันธนาคาร ปรากฏว่าเงินในบัญชีได้ถูกโอนออกไปยังบัญชีของนายภาณุพงศ์ฯ 2 ครั้ง จำนวน 173,000 บาท และ 963,237.62 บาท รวมเป็นเงินจำนวน 1,136,237.62 บาท ผู้เสียหายจึงเชื่อว่าถูกหลอกลวง จึงเข้าพบพนักงานสอบสวนเพื่อแจ้งความร้องทุกข์และดำเนินคดีกับกลุ่มคนร้าย

.

พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. จึงได้กำชับตำรวจไซเบอร์เร่งดำเนินการขยายผลการจับกุม และทลายเครือข่ายบัญชีม้า/ซิมม้า โดยสืบสวนสอบสวนในเชิงลึกถึงบัญชีในขั้นตอนต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง และสั่งการให้ พล.ต.ต.สถิตย์ พรมอุทัย ผบก.สอท.3 ส่งเจ้าหน้าที่ออกสืบสวนสอบสวน เพื่อหาพยานหลักฐานกวาดล้างจับกุมขบวนการดังกล่าว

.

จากการสืบสวนพบว่าบัญชี นายภาณุพงศ์ ฯ ได้ทำรายการโอนต่อไปยังบัญชีนายเจษฎาฯ จำนวน 4 ครั้ง ในทันที จำนวน 173,009 บาท 350,000 บาท 350,000 บาท และ 261,324 บาท จากนั้นได้ทำรายการโอนต่อไปยังบัญชีธนาคารชื่อบัญชี นางจีรภาฯ ในทันทีที่รับโอนเงินต่อมา จำนวน 4 ครั้ง และจากการตรวจสอบข้อมูลการจดทะเบียนลิงก์ที่คนร้ายส่งให้ผู้เสียหาย พบข้อมูลผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตตั้งอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ตำรวจไซเบอร์ กก.1 บก.สอท.3 จึงรวบรวมพยานหลักฐานขออนุมัติศาลจังหวัดชุมแพ ออกหมายจับ นายภาณุพงศ์ฯ และ นายเจษฎาฯ

.

ต่อมาตำรวจไซเบอร์ กก.1 บก.สอท.3 โดย พ.ต.อ.อภิรักษ์ จำปาศรี ผกก.1 บก.สอท.3 ได้สืบสวนทราบว่า นายเจษฎาฯ เดินทางไปที่ศูนย์ราชการจังหวัดนครปฐม ต.ถนนชาด อ.เมือง จ.นครปฐม จึงได้ประสาน กก.สืบสวน ภ.จว.นครปฐม และติดตามจับกุม ส่งพนักงานสอบสวน กก.1 บก.สอท.3 ดำเนินคดีตามหมายจับ และจะได้เร่งติดตามจับกุมนายภาณุพงศ์ฯ ผู้ต้องหาตามหมายจับอีกราย พร้อมขยายผลดำเนินคดีกับคนร้ายทั้งขบวนการ

.

พ.ต.อ.อภิรักษ์ ฯ กล่าวว่า จากการกรณีดังกล่าวคนร้ายใช้แผนประทุษกรรมคือ

1. กลุ่มคนร้ายจะใช้อุบายหลอกลวงเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ หรือหน่วยงานต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชน ติดต่อผู้เสียหาย ในรูปแบบ SMS หรือข้อความชวนเชื่อ ผ่านกลุ่ม Line , Facebook หรือช่องทางติดต่ออื่น โดยข้อความเป็นลักษณะการแจ้งสิทธิประโยชน์, แจ้งให้ดำเนินการใดๆ เพื่อรับสิทธิประโยชน์, โปรโมชั่นลดราคาสินค้า, การกู้ยืมเงินดอกเบี้ยต่ำ เป็นต้น เพื่อจูงใจให้ผู้เสียหายติดต่อกลับไป โดยแนบลิงก์ที่ติดต่อมาด้วย เพื่อให้ผู้เสียหายกดรับสิทธิ์

2. เมื่อกดลิงก์เข้าไปจะเป็นลักษณะให้เพิ่มเพื่อนในแอปพลิเคชันไลน์

3. จากนั้นคนร้ายจะชักชวนพูดคุยและให้ติดตั้งแอปพลิเคชันปลอมที่แฝงมัลแวร์ เมื่อผู้เสียหายติดตั้งแล้ว จะกรอกข้อมูลส่วนตัว และให้ตั้งรหัสผ่าน ซึ่งผู้เสียหายส่วนใหญ่มักตั้งรหัสผ่านในแอปพลิเคชันต่างๆ เหมือนกันเกือบทุกแอปพลิเคชัน หรือให้ผู้เสียหายกรอกรหัสผ่านแอปพลิเคชันธนาคาร

4. จากนั้นหลอกให้ผู้เสียหายกดอนุญาตการเข้าถึงโทรศัพท์ แบบ Remote Access หรือการควบคุมทางไกล ซึ่งข้อความที่ขึ้นให้เห็นผ่านหน้าแอปพลิเคชันปลอมจะเป็นข้อความทั่วไป ผู้เสียหายส่วนมากก็จะกดอนุญาตตามที่คนร้ายบอก ทำให้คนร้ายสามารถควบคุมโทรศัพท์มือถือของผู้เสียหายได้ทั้งหมด

5. จากนั้นกลุ่มคนร้ายจะทำการโอนเงินจากบัญชีธนาคารของผู้เสียหาย ไปยังบัญชีธนาคารของผู้ต้องหา และจะโอนต่อไปเป็นทอดๆ ในทันที จนถึงผู้รับผลประโยชน์จริง

.

พล.ต.ต.สถิตย์ พรมอุทัย ผบก.สอท.3 ขอย้ำเตือนพี่น้องประชาชนอย่าหลงเชื่อผู้ที่ติดต่อผ่านช่องทางต่างๆ โดยหน่วยงานรัฐทุกหน่วยงานไม่มีนโยบายให้เจ้าหน้าที่ติดต่อไปยังประชาชนโดยตรง โดยเฉพาะหากเป็นการติดต่อมาแล้วให้ทำธุรกรรมผ่านโทรศัพท์มือถือ เช่น กดลิงก์ สแกนคิวอาร์โค้ด ติดตั้งแอปพลิเคชัน สแกนใบหน้าเพื่อยืนยันตัวตน อย่าลงมือทำธุรกรรมทันที ขอให้ตรวจสอบให้แน่ใจก่อน หากมีกรณีข้อสงสัยให้ประชาชนเป็นฝ่ายติดต่อกลับไปยังหน่วยงานนั้นโดยตรง เช่น ผ่านเบอร์โทรศัพท์ของหน่วยงาน หรือไปติดต่อสอบถาม ณ สำนักงานหน่วยงานนั้นๆ

.

#ตำรวจไซเบอร์ #สอท #จับกุม #แอปดูดเงิน

#ตำรวจไซเบอร์  #CCIB