แถลงกรณีจับแก๊ง ผจก.สาขาบริษัทขนส่งเจ้าดัง
แถลงกรณีจับแก๊ง ผจก.สาขาบริษัทขนส่งเจ้าดัง
แถลงกรณีจับแก๊ง ผจก.สาขาบริษัทขนส่งเจ้าดัง
หลอกส่งเก็บเงินปลายทางวันละนับหมื่นชิ้น
.
วันนี้ 12 ส.ค.66 เวลา 13.30 น. พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. พร้อมด้วย พล.ต.ต.อำนาจ ไตรพจน์ รอง ผบช.สอท. พล.ต.ต.ไพโรจน์ สุขรวยธนโชติ รอง ผบช.สอท. พล.ต.ต.ณัฐกร ประภายนต์ ผบก.สอท.2 และเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันแถลงข่าวกรณีบุกทลายโกดังพัสดุ จับแก๊ง ผจก.สาขาของบริษัทขนส่งเจ้าดัง หลอกส่งเก็บเงินปลายทางวันละนับหมื่นชิ้น ณ ห้องประชุมอาคารฝึกอบรมและสัมมนา ตร. (เมืองทองธานี) บช.สอท.
.
สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจไซเบอร์ได้รับแจ้งเบาะแสจากประชาชนผ่านช่องทาง Facebook “ตำรวจไซเบอร์ 2” ของ บก.สอท.2 เกี่ยวกับกรณีส่งพัสดุหลอกเก็บเงินปลายทาง โดยพลเมืองดีพบความผิดปกติของการขนส่งพัสดุ ณ ที่ทำการสาขาของบริษัทขนส่งพัสดุเจ้าดังแห่งหนึ่ง ในพื้นที่ ต.บางกร่าง อ.เมือง จ.นนทบุรี โดยพบว่า มีการส่งพัสดุสินค้าที่มีขนาดเดียวกันในรูปแบบ COD หรือ เก็บเงินปลายทาง ประมาณ 10,000 -20,000 ชิ้น ประมาณ 10 วัน/ครั้ง และพัสดุเหล่านั้นมักถูกตีกลับจากผู้รับเป็นจำนวนมาก
.
พล.ต.ต.ณัฐกร ประภายนต์ ผบก.สอท.2 จึงสั่งการให้ กก.3 บก.สอท.2 เร่งตรวจสอบกรณีดังกล่าวโดยละเอียด เนื่องจากอาจเป็นการกระทำผิดที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนเป็นจำนวนมาก และเป็นนโยบายที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้กำชับและสั่งการไว้แล้ว
.
ต่อมา พ.ต.อ.ปกรณ์กิตติ์ ธนวรินทร์กุล ผกก.3 บก.สอท.2 จึงนำกำลังลงพื้นที่สืบสวนหาข่าว จนสามารรวบรวมหลักฐานเพื่อขออำนาจศาลออกหมายค้น และได้เข้าตรวจค้นเป้าหมาย จากการตรวจสอบทราบว่า ผู้ส่งพัสดุดังกล่าวคือ นายเอกฉันท์ ฯ พักอาศัยอยู่ที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งย่าน ต.เชียงรากน้อย อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา โดยเช่าอาคารพาณิชย์ 4 ชั้น ในบริเวณใกล้เคียงเพื่อว่าจ้างคนงานมาแพ็คกล่องพัสดุ และนำไปส่งที่บริษัทขนส่งพัสดุแห่งหนึ่ง สาขาบางกร่าง อ.เมือง จ.นนทบุรี ครั้งละเป็นจำนวนมาก
.
จากการสืบสวนสอบสวนทราบว่า นายเอกฉันท์ ฯ ได้ร่วมกับนายนพดลฯ ซึ่งเป็นเซลล์ของบริษัทขนส่ง ร่วมกันเปิดเฟซบุ๊กปลอม โดยมีการลงทุนยิงโฆษณา และว่าจ้างแอดมินเพื่อสนทนากับลูกค้าเพื่อขายสินค้าต่างๆ เช่น ไฟแช็กแบบเติมก๊าซ ลำโพงบลูทูธ และสินค้าอื่นๆ ในราคาไม่เกิน 200 บาท
.
เมื่อแอดมินเพจได้รับออเดอร์พร้อมชื่อที่อยู่ลูกค้าแล้ว ก็จะทำการบรรจุสินค้าที่ไม่มีมูลค่าลงไปแทน เช่น ไฟแช็กราคาถูก กระดาษทิชชู่เปียก เป็นต้น จากนั้น จึงแปะฉลากหน้าพัสดุเพื่อส่งลูกค้า โดยใช้ที่อยู่ผู้ส่งและเบอร์โทรศัพท์ของศูนย์กระจายสินค้าบริษัทขนส่งพัสดุนั้น เพื่อปกปิดตัวตน โดยมี น.ส.สุพิศตาฯ ผู้จัดการสาขาของบริษัทขนส่งพัสดุข้างต้นคอยให้ความร่วมมือ และทำหน้าที่คอยแก้ไขปัญหากรณีมีลูกค้าร้องเรียนเกี่ยวกับพัสดุปลอม โดยได้รับส่วนแบ่งเป็นเงิน จำนวนกล่องละ 2 บาท
.
จากนั้น เมื่อกล่องพัสดุส่งไปยังลูกค้าแล้ว หากมีลูกค้าหลงเชื่อจ่ายเงินปลายทาง เงินที่ได้จะเข้ายังบัญชีบริษัทขนส่งพัสดุ จากนั้น ผู้ต้องหาจะใช้บัญชีบริษัทโอนเงินให้แก่นายเอกฉันท์ฯ โดยผ่านบัญชีม้าที่ได้ว่าจ้าง น.ส.เจสิตาฯ เปิดให้ จากหลักฐานปัจจุบัน พบว่าบุคคลกลุ่มนี้ก่อเหตุมาตั้งแต่ต้นปี '66 ซึ่งมีรายได้รวมกันกว่า 15 ล้านบาท
.
เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงแจ้งข้อกล่าวหาแก่ทั้ง 4 คน ฐาน “ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน, นำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จสู่ระบบคอมพิวเตอร์ และ ร่วมกันฟอกเงิน” พร้อมตรวจยึดของกลางเป็นยานพาหนะที่ใช้ขนส่งพัสดุ จำนวน 4 คัน อุปกรณ์คอมพิวเตอร์และปริ้นเตอร์ รถจักรยานยนต์วิบาก และ รถจักรยานยนต์ บิ๊กไบค์ BMW S1000RR และกล่องพัสดุสินค้าอีกเป็นจำนวนมาก
.
#ตำรวจไซเบอร์ #จับกุม #หลอกเก็บเงินปลายทาง #พัสดุปลอม
#ตำรวจไซเบอร์ #CCIB