ตร.ไซเบอร์แถลงปฏิบัติการ "ล่าลวงหลอก" จับมือคุมบัญชีและกดเงินส่งแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ยึดทรัพย์จ่อคืนผู้เสียหายกว่า 10 ล้านบาท

ตร.ไซเบอร์แถลงปฏิบัติการ "ล่าลวงหลอก" จับมือคุมบัญชีและกดเงินส่งแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ยึดทรัพย์จ่อคืนผู้เสียหายกว่า 10 ล้านบาท

.

กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี / วันนี้ (15 ส.ค.66) เวลา 13.00 น. พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. พล.ต.ต.อำนาจ ไตรพจน์ รอง ผบช.สอท., พล.ต.ต.สถิตย์ พรมอุทัย ผบก.สอท.3 และ พล.ต.ต.ณัฐกร ประภายนต์ ผบก.สอท.2 พร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้อง ร่วมแถลงข่าว ปฏิบัติการ “ล่าลวงหลอก” ขุดรากถอนโคนขบวนการ Call Center ในพื้นที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ณ อาคารประชุมสัมมนาและฝึกอบรมสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (เมืองทองธานี)

.

พล.ต.ต.สถิตย์ พรมอุทัย ผบก.สอท.3 เปิดเผยว่า กองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 3 ได้รับเรื่องแจ้งความร้องทุกข์ผ่านระบบแจ้งความออนไลน์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรณีสืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 1 - 4 ส.ค.66 ผู้เสียหายได้รับการติดต่อทางโทรศัพท์จากคนร้ายหมายเลข 08 2792 5035 อ้างตัวเป็นพนักงานส่งพัสดุ Kerry Express แจ้งว่าตรวจพบสิ่งของในพัสดุ ที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิด ได้แก่ หนังสือเดินทาง (Passport) ของชาวจีน จำนวน 15 เล่ม และ สมุดบัญชีธนาคาร (ระบุชื่อผู้เสียหายเป็นเจ้าของบัญชี) จำนวน 3 บัญชี ซึ่งพัสดุดังกล่าวถูกส่งจากต้นทางจังหวัดตาก และปลายทางจังหวัดอุบลราชธานี โดยปรากฏชื่อผู้เสียหายเป็นผู้ส่งพัสดุ

.

จากนั้นคนร้ายจึงแจ้งให้ผู้เสียหายติดต่อกับเจ้าหน้าที่ตำรวจผ่านทางแอปrลิเคชันไลน์ (Line) โดยให้วิดีโอคอลคุยกับปลายสายซึ่งอ้างตัวเป็นผกก.สภ.เมืองตาก (โปรแกรม AI) หลอกสอบถามข้อมูลส่วนตัวและเงินในบัญชีของผู้เสียหาย รวมถึงพูดจาหว่านล้อมให้ผู้เสียหายหลงเชื่อว่ามีการกระทำความผิดจริง โดยให้ผู้เสียหายโอนเงินเพื่อเป็นการตรวจสอบ รวมทั้งสิ้น 9 ครั้ง เป็นจำนวนเงินกว่า 2,839,298.45 บาท ทั้งยังให้โอนเงินเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนผู้เสียหายเชื่อแน่ว่าตนถูกคนร้ายหลอกให้โอนเงินจึงแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีกับคนร้ายตามกฎหมาย

.

ภายหลังเกิดเหตุ พ.ต.อ.นิคม ชัยเจริญ ผกก.3 บก.สอท.3 พร้อมด้วย พ.ต.ท.ไพรวัลย์ อายุวงษ์ รอง ผกก.3 บก.สอท.3 จึงเร่งรัดสืบสวนสอบสวนจับกุมตัวคนร้าย มีการยักย้ายถ่ายโอนเงินที่ได้จากการหลอกผู้เสียหายไปยังบัญชีม้า แถวที่ 4-5 จากนั้นจึงมีการกดเงินสดจากตู้เอทีเอ็ม (ATM) บริเวณ อ.แม่สาย จว.เชียงราย

.

พ.ต.อ.นิคม พร้อมด้วย พ.ต.ท.ไพรวัลย์ จึงสนธิกำลังเจ้าหน้าที่สืบสวน กก.3 บก.สอท.3 ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อมูลแผนประทุษกรรมคนร้ายและผู้มีพฤติกรรมเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดดังกล่าว จนกระทั่งสามารถรวบรวมพยานหลักฐานขอศาลอนุมัติหมายค้น/หมายจับผู้ต้องหา ทั้งผู้ทำหน้าที่กดเงินสด รวมถึงผู้รับจ้างเปิดบัญชีม้า จำนวนกว่า 15 ราย

.

พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. จึงสั่งเปิดปฏิบัติการ “ล่าลวงหลอก” ขุดรากถอนโคน แก๊ง Call Center กำหนดเข้าปฏิบัติการตรวจค้นเป้าหมาย ในพื้นที่ อ.แม่สาย จว.เชียงราย พร้อมกัน 2 จุด เมื่อวันที่ 12 ส.ค.66 ที่ผ่านมา ผลการตรวจค้น สามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ 9 ราย ดังนี้

.

1. ผู้ต้องหาที่ทำหน้าที่ควบคุมบัญชีและทำหน้าที่กดเงินสด จำนวน 4 ราย ได้แก่

- น.ส.พลอยมณี (สงวนนามสกุล) อายุ 20 ปี

- น.ส.ธิติกานต์ (สงวนนามสกุล) อายุ 20 ปี

- น.ส.อรดี (สงวนนามสกุล)อายุ 18 ปี

- นายอาโล (สงวนนามสกุล) อายุ 22 ปี

.

2. ผู้ต้องหาที่รับจ้างเป็นบัญชีม้า จำนวน 5 ราย ได้แก่

- นานธนพล (สงวนนามสกุล) อายุ 38 ปี

- นายวีรชัย (สงวนนามสกุล) อายุ 20 ปี

- นายพนมวัน (สงวนนามสกุล) อายุ 19 ปี

- น.ส.ศิริพร (สงวนนามสกุล) อายุ 28 ปี

- น.ส.พิมานมาศ (สงวนนามสกุล) อายุ 20 ปี

.

ตรวจยึดของกลางซึ่งเป็นพยานหลักฐานสำคัญและยึดทรัพย์สินที่เชื่อว่าได้มาจากการกระทำความผิด จำนวน 130 รายการ มูลค่ารวมกว่า 10 ล้านบาท ได้แก่

1. เงินสด จำนวน 1,058,620 บาท

2. รถยนต์ จำนวน 2 คัน มูลค่า 3,200,000 บาท

3. รถจักรยานยนต์ จำนวน 2 คัน มูลค่า 100,000 บาท

4. คอมพิวเตอร์ 2 เครื่อง มูลค่า 100,000 บาท

5. โทรศัพท์เคลื่อนที่ 17 เครื่อง มูลค่า 500,000 บาท

6. สมุดบัญชีธนาคารพร้อมบัตรเอทีเอ็ม โดยสามารถอายัดเงินในบัญชีได้รวม 1,500,000 บาท

.

จากนั้นจึงได้นำตัวผู้ต้องหาพร้อมของกลางดังกล่าวส่งพนักงานสอบสวน ดำเนินคดีในความผิดฐาน “ร่วมกันฉ้อโกงประชาชนโดยการแสดงตนเป็นคนอื่น นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน และสมคบกันโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำผิดฐานฟอกเงินและได้มีการกระทำความผิดฐานฟอกเงินเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกัน และร่วมกันฟอกเงิน”

.

สำหรับปฏิบัติการในครั้งนี้ ปรากฏจากการสืบสวนขยายผลพบความเชื่อมโยงในการกระทำความผิดเป็นขบวนการ Call Center รายใหญ่ โดยที่ผ่านมากลุ่มผู้ต้องหารับว่าได้ร่วมกันกระทำความผิดในลักษณะดังกล่าว ตั้งแต่ปลายปี 2565 จนกระทั่งถึงปัจจุบัน หลอกลวงผู้เสียหายมาแล้วหลายราย มูลค่าความเสียหายรวมกว่า 300 ล้านบาท ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีได้ทำการรวบรวมพยานหลักฐานติดตามจับกุมผู้ร่วมกระทำความผิดและไล่ล่ายึดทรัพย์เพื่อส่งกลับคืนแก่ผู้เสียหายต่อไป

.

#ตำรวจไซเบอร์ #จับกุม #ยึดทรัพย์ #แก๊งคอลเซ็นเตอร์



#ตำรวจไซเบอร์  #CCIB