แถลงปฏิบัติการ CYBER GUARDIAN จับแก๊งหลอกโหลดแอปดูดเงิน อายัดเงินได้ทัน 9.6 แสน คืนผู้เสียหาย

แถลงปฏิบัติการ CYBER GUARDIAN

จับแก๊งหลอกโหลดแอปดูดเงิน อายัดเงินได้ทัน 9.6 แสน คืนผู้เสียหาย

.

จากการประสานความร่วมมือระหว่าง กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) โดยนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.)

โดย พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. ได้สั่งการให้ พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒนครบัญชา ผบช.สอท. เร่งแก้ไขปัญหาอาชญากรรมทางไซเบอร์ โดยเฉพาะกรณีแก๊งคอลเซ็นเตอร์และการพนันออนไลน์ทุกรูปแบบ ด้วยการตั้งศูนย์ต่อต้านอาชญากรรมออนไลน์ AOC 1441 เพื่อเป็น One Stop Service แก้ปัญหาออนไลน์แก่ประชาชน โดยให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ ยังมี War-room เพื่อใช้บูรณาการในการติดตามสถานการณ์ สั่งการ ปฏิบัติการป้องกันปราบปรามโจรออนไลน์อย่างทันเวลา โดยเน้นมาตรการเชิงรุก คือ “ระงับ” หรือ “อายัด” บัญชีของคนร้ายให้แก่ผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวงออนไลน์ทันที

.

โดยวันจันทร์ที่ 18 ธ.ค.66 เวลา 13.30 น. ณ อาคารสัมมนาและฝึกอบรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (เมืองทองธานี) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นำโดย นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายสุทธิเกียรติ วีระกิจพานิช ที่ปรึกษาฯ ร่วมกับ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี นำโดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท., พล.ต.ต.อรรถสิทธิ์ สุดสงวน รอง ผบช.สอท., พล.ต.ต.วิวัฒน์ คำชำนาญ รอง ผบช.สอท., พล.ต.ต.นิพล บุญเกิด ผบก.สอท.2 และเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้อง ร่วมแถลงข่าว “CYBER GUARDIAN จับแก๊งหลอกโหลดแอปดูดเงิน อายัดเงินได้ทัน 9.6 แสน คืนผู้เสียหาย

.

โดยจับกุมเครือข่ายผู้ร่วมกระทำผิดในการแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่จากกรมบัญชีกลาง โทรหลอกลวงผู้เสียหายว่ารัฐบาลจะให้รับเงินบำเหน็จบำนาญ เดือนละ 2 ครั้ง แล้วให้แอดไลน์เพื่อส่งลิงก์ให้กดดาวน์โหลดแอปหน่วยงานของปลอม ซึ่งเป็นโปรแกรมที่ใช้ควบคุมโทรศัพท์ทางไกล แล้วหลอกให้ผู้เสียหายทำตามขั้นตอน รวมถึงการหลอกให้ใส่รหัสผ่าน ซึ่งคนส่วนใหญ่มักใช้รหัสเดียวกันกับรหัสแอปธนาคาร จากนั้นมิจฉาชีพจะสนทนาเพื่อถ่วงเวลาในขณะที่กำลังโอนเงินออกจากบัญชีของผู้เสียหาย แต่ขณะนั้นผู้เสียหายสังเกตพบว่าโทรศัพท์ของตนค้าง ไม่สามารถปิดเครื่องหรือดำเนินการใดใดได้ จึงรู้ตัวและรีบเดินทางไปที่ธนาคารจนพบว่าเงินในบัญชีธนาคาร 2 บัญชีถูกโอนไปยังบัญชีคนร้าย จำนวน 5 ครั้ง รวมประมาณ 1.2 ล้านบาท แต่เจ้าหน้าที่สามารถอายัดเงินได้ทันจำนวน 960,192.72 บาท

.

จากข้อมูลของธนาคารพบว่า เงินของผู้เสียหายได้ถูกโอนไปยังบัญชี นายมานบ (ผู้ต้องหาที่ 1) จำนวน 1 ครั้ง จำนวน 1,009,992.72 บาท (ถูกโอนต่อไป 40,000 บาท อายัดได้ทัน 960,192.72 บาท) และ โอนไปยังบัญชีบัญชี นางนพวรรณ (ผู้ต้องหาที่ 2) จำนวน 4 ครั้ง ครั้งละเกือบ 50,000 บาท จำนวน 4 ครั้งในเวลาไล่เลี่ยกัน

ผู้เสียหายจึงได้เข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน กก.3 บก.สอท.2

.

พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. จึงสั่งการให้ พล.ต.ต.นิพล บุญเกิด ผบก.สอท.2 ส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจเร่งรวบรวมพยานหลักฐาน จนสามารถขออำนาจศาลจังหวัดนนทบุรี ออกหมายจับ นายมานบ อายุ 46 ปี ชาวสระแก้วได้ โดยชุดสืบสวน กก.3 บก.สอท.2 ได้ลงพื้นที่ติดตามตัวจนทราบว่าผู้ต้องหา หลบหนีเพื่อซ่อนตัวอยู่ในพื้นที่ ต.ทัพราช อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว โดยจะย้ายที่หลบซ่อนไปเรื่อย แต่ยังวนเวียนในพื้นที่ดังกล่าว ต่อมาวันที่ 14 ธันวาคม 2566 เวลาประมาณ 16.30 น. จึงได้วางแผนเข้าควบคุมตัวผู้ต้องหาได้บริเวณหน้ากระท่อมกลางทุ่งนา หมู่บ้านเนินขาม หมู่ 11 ต.ทัพราช อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว

.

จากนั้น ได้ประสานงานกับธนาคารกสิกรไทยเพื่อให้ผู้ต้องหาถอนเงินที่อายัดไว้ได้ทัน ซึ่งผู้ต้องหาให้ความยินยอมแต่โดยดี เนื่องจากมีคนเคยจ้างให้เปิดบัญชีในราคา 1,100 บาท จึงยืนยันว่าเงินดังกล่าวไม่ใช่เงินตัวเอง และได้ถอนคืนให้แก่ผู้เสียหายได้ จำนวน 960,192.72 บาท จากนั้นจึงนำตัวส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดีตามกฎหมาย โดยปัจจุบันผู้ต้องหาอยู่ระหว่างการฝากขังที่ศาลจังหวัดนนทบุรี

.

โดยพนักงานสอบสวนได้ดำเนินคดีผู้ต้องหา ในความผิดฐาน “ร่วมกันลักทรัพย์โดยลวงเป็นเจ้าพนักงาน, ร่วมกันเข้าถึงโดยมิชอบซึ่งระบบคอมพิวเตอร์ที่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึงโดยเฉพาะและมาตรการนั้นมิได้มีไว้สำหรับตน,ร่วมกันฉ้อโกงประชาชนโดยการแสดงตนเป็นบุคคลอื่นและร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน และสมคบกันโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำผิดฐานฟอกเงินและได้มีการกระทำความผิดฐานฟอกเงินเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกันและร่วมกันฟอกเงิน”

.

โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่ระหว่างการขยายผลจับกุมผู้ร่วมขบวนการที่เหลือเพิ่มเติมทั้งหมด เพื่อนำตัวผู้กระทำผิด

มาดำเนินคดีตามกฎหมาย และเร่งติดตามเส้นทางการเงินเพื่อนำเงินมาคืนผู้เสียหายให้ได้มากที่สุด

.

อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนพึงระลึกไว้เสมอว่า เจ้าหน้าที่รัฐไม่มีการติดต่อผ่านโทรศัพท์หรือแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเพื่อให้ดำเนินการติดตั้งแอป หรือ ล็อกอินระบบใดใดทางออนไลน์เด็ดขาด นอกจากนี้ การซื้อขายบัญชีธนาคารยังมีความผิดตามกฎหมาย ทั้งนี้ หากประชาชนมีข้อสงสัย สามารถโทรปรึกษาสายด่วน AOC 1441 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

.

#ตำรวจไซเบอร์ #สอท #จับกุม #กรมบัญชีกลาง #แอปดูดเงิน

#ตำรวจไซเบอร์  #CCIB